ไวรัสเมอร์สที่ระบาดหนักในเกาหลีใต้ในเวลานี้ ทำให้หลายประเทศเริ่มเตือนประชาชนให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังเกาหลีใต้ แล้ว พร้อมทั้งต้องเร่งให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนเพื่อเตรียมพร้อมรับมือ วันนี้ทีมข่าวไทยรัฐทีวีจะนำคุณผู้ชมไปทำความรู้จักกับไวรัสตัวนี้กันอีก ครั้งเพื่อหาแนวทางป้องกันแม้ว่าจะยังไม่พบการแพร่ระบาดในไทยก็ตาม
ไวรัสเมอร์ส ก็คือ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า หรืออีกชื่อหนึ่ง คือ กลุ่มอาการระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันในประเทศตะวันออกกลาง โดยบางครั้งยังถูกเรียกว่า “ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2012” เนื่องจาก พบผู้ป่วยที่ติดเชื้อครั้งแรกในประเทศ ซาอุดิอาระเบีย ในปีค.ศ. 2012 หรือพ.ศ.2555
ไวรัสชนิดนี้มีหลายสายพันธุ์ มีลักษณะคล้ายโรคซาร์ส แต่มีความรุนแรงมากกว่า บางสายพันธุ์เป็นไวรัสที่ติดเชื้อ อยู่บริเวณส่วนต้นของทางเดินหายใจในคน เป็นสาเหตุของโรคหวัดทั่วๆไป บางสายพันธุ์ติดเชื้อในสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า เช่น อูฐ และค้างคาว แต่ต่อมาไวรัสสายพันธ์นี้ได้มีการพัฒนาจนสามารถแพร่เข้ามาติดเชื้อในคนสู่คน ได้
โดยองค์การอนามัยโลกระบุว่าล่าสุดมีผู้เสียชีวิตด้วยไวรัสตัวนี้แล้ว 442 คน อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ร้อยละ 36 โดยข้อมูลจากศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคของยุโรป รายงานพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ 2012 ณ วันที่ 5 มิถุนายน 2558 แล้วใน 25 ประเทศ คือ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ จอร์แดน โอมาน คูเวต อียิปต เยเมน เลบานอน อิหร่าน ตุรกี อังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี กรีซ เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย ตูนิเซีย แอลจีเรีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และ จีน
สำหรับอาการของผู้ป่วยด้วยไวรัสเมอร์ส จะมีอาการหนาวสั่นเป็นไข้ ไอ หายใจไม่สะดวก บางรายมีอาการกับระบบทางเดินอาหารทำให้อาเจียนและท้องเสีย และอาจทำให้เกิดอาการปอดอักเสบ และไตวายตามมา ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักอยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอาการป่วยอื่นๆร่วมด้วย
และ ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่าการติดต่อระหว่างคนเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่มีข้อมูลว่าการติดต่อมักเกิดขึ้นภายในครอบครัว และจากในโรงพยาบาล แต่ถือว่าการแพร่ะระบาดยังอยู่ในวงจำกัด
โดยปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสหรือวัคซีนในการรักษาเมอร์ส แพทย์ทำได้เพียงให้การรักษาตามอาการ โดยเฉพาะการดูแลระบบการหายใจ เพื่อไม่ให้ระบบทางเดินหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน
สำหรับการป้องกันตัวเองจากไวรัสเมอร์สเบื้องต้น ก็คือ การหลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ที่มีอาการป่วย ล้างมือบ่อยๆ สวมหน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงไปในสถานที่แออัด มีคนรวมกลุ่มกันเป็นจำนวนมาก งดการสัมผัสกับอูฐ หรือดื่มนมอูฐดิบ หากเดินทางไปยังประเทศในตะวันออกกลาง และหากเดินทางกลับจากต่างประเทศที่มีการระบาดของเชื้อ แล้วมีอาการไข้ภายใน 2 วันให้รีบพบแพทย์ทันที
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้องค์การอนามัยโลก ยังไม่มีข้อห้ามในการเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาดของโรค จนกว่าจะสามารถชี้ชัดได้ว่าไวรัสชนิดนี้ติดต่อระหว่างคนได้อย่างไร แต่หลายประเทศได้เริ่มมีคำแนะนำให้พลเมืองหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังประเทศ ที่พบการติดเชื้อแล้ว
Post a comment