แค่เห็นภาพเจ้ากระต่ายเป็นฝีก็เจ็บแทนกันแล้วใช่ไหมครับ ฝีในกระต่ายเป็นความเจ็บป่วยที่พบได้ค่อนข้างบ่อย แม้ว่าจะสามารถตรวจวินิจฉัยได้ง่ายแต่การรักษาให้หายนั้นค่อนข้างยากและใช้เวลาในการรักษานานมากเลยทีเดียวครับ
สาเหตุ
เกิดบาดแผลจากการกัด หรือต่อสู้กัน การทิ่มทะลุของฟัน หรือรากฟันที่งอกยาวในช่องปาก เนื่องจากโภชนาการที่ไม่เหมาะสม การทิ่มตำของวัสดุทำกรง หรือวัสดุปูรองกรงไม่เหมาะสม เช่น ซี่ลวดกรงบาดเท้า หรือ เกิดจากการเสียดสีเป็นเวลานานกับพื้นกรง ตลอดจนรอยข่วนหรือแผลจากการเกาด้วยเล็บที่ยาวและสกปรกทำให้เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนเข้าไปในบาดแผล หรือการฉีกขาดของผิวหนัง จากสาเหตุข้างต้น ด้วยเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งลักษณะของฝีในกระต่ายจะมีลักษณะเฉพาะ คือ เป็นก้อนแข็ง (Cheesy mass) มากกว่าของเหลวปนเลือด และมีแคปซูลหนามาหุ้ม ทำให้ยากแก่การระบายออก และทำให้ยาปฏิชีวนะเข้าถึงตัวก้อนฝีได้ยาก
อาการ
สังเกตได้ง่ายจากการพบการบวมเป็นก้อนใต้ผิวหนัง ซึ่งบริเวณที่พบบ่อย คือด้านข้างของกราม ใต้คาง เหนือจมูก ขอบตา บริเวณไหล่ หากเกิดจากการทิ่มแทงของฟันหน้า บริเวณริมฝีปากจะเปื่อยยุ่ย เนื่องจากฟันทิ่มเข้าไปในเนื้อปาก บางตัวเกิดฝีบริเวณใต้เท้าเนื่องมาจากการเสียดสีกับกรง ทำให้เกิดแผลและติดเชื้อแทรกซ้อน ฝ่าเท้าจะมีขนาดใหญ่ขึ้น และบวมอักเสบ นิ้วเท้ามีแผล หรือมีหนองปะทุ ซึ่งอาการที่ตามมา คือกระต่ายจะเจ็บปวด จนทำให้เกิดการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด ซึม ไม่ค่อยเดิน ไม่ร่าเริงเหมือนเดิม หรือมีรูปหน้า หรือ รูปอวัยวะที่ผิดแปลกไปจนเสียรูปทรงเดิม
การตรวจวินิจฉัย
- การคลำตรวจบริเวณที่เป็นฝี จะมีขอบเขตที่ค่อนข้างแน่นอน อาจเกาะยึดแน่นกับเนื้อกระดูก หรือขยับไปมา
- การถ่ายภาพ X-Ray จะช่วยวินิจฉัยถึงขอบเขต ความรุนแรง สาเหตุต้นตอของการกดเบียดหรือทิ่มแทงของฟันที่งอก (ในกรณีฝีรากฟัน หรือฟันมีปัญหา) และยังสามารถทราบได้ว่าตัวฝียึดกับกระดูกจนทำให้เกิดการสลายของกระดูก (bone lysis) หรือไม่
- การเจาะดูดหรือกรีดผ่า เพื่อตรวจดูของเหลวภายใน ซึ่งจะมีลักษณะเป็นก้อนแข็ง หรือ เป็นลักษณะคล้ายครีมชีส(creamy to caseous) หรือหนองข้นสีขาว ควรทำการเพาะเชื้อ เพื่อหาความไวต่อยาปฏิชีวนะ และตรวจดูเซลล์ที่ปนออกมา
การรักษา
- เปิดผ่าเอาหนองออกมาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้โดย เปิดบริเวณตอนล่างของก้อนฝี
- ขูดทำลายเนื้อเยื่อของผนังถุงฝีออกให้มากที่สุดพร้อมกับเก็บตัวอย่างหนองเพื่อทำการเพาะเชื้อหาความไวต่อยาปฏิชีวนะ เพื่อการเลือกใช้ยาที่ถูกชนิดกับเชื้อแบคทีเรียในฝีให้มากที่สุด
- ในกรณีที่เกิดจากการทิ่มแทงของฟัน ให้ทำการตัดฟัน หรือหากเกิดจากรากฟันงอกยาว ให้ทำการถอนฟันซี่นั้นๆออก
- ใส่ยาปฏิชีวนะ หรือ ใส่หมุด ก๊อซ และหมั่นเปลี่ยนทุกวัน
- สิ่งที่ต้องจัดการควบคู่ไปกับการเอาฝีออก คือการจัดการเรื่องความเจ็บปวด เนื่องจากฝี ซึ่งจะทำให้กระต่ายเกิดความเจ็บปวดอย่างมาก การให้ยาลดปวด ลดอักเสบ ยาปฏิชีวนะร่วมกัน จึงเป็นสิ่งจำเป็น ร่วมกับการรักษาแผลฝี ซึ่งมักจะต้องให้ในระยะยาวเนื่องจาก การรักษาฝีต้องใช้เวลานาน บางรายใช้เวลาเป็นเดือน หรือเป็นปี และยังต้องนัดมาเพื่อสังเกตอาการ เพื่อไม่ให้ตัวฝีกลับมาเป็นอีก
คำแนะนำเพิ่มเติมในการป้องกันการเกิดฝี จึงเป็นสิ่งที่เจ้าของควรใส่ใจมากกว่า เพราะ การป้องกันนั้นง่ายกว่าการรักษามาก ดังนี้
- หมั่นรักษาความสะอาดกรง หรือภาชนะที่ใช้เลี้ยงอยู่เสมอ ตลอดจนสิ่งปูนอน และถาดรองรับสิ่งปฏิกูล ไม่ให้เกิดการหมักหมมของฉี่ อึ จนทำให้เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค และทำให้เกิดการกัดกร่อนซี่กรง จนเกิดสนิม และเสียดสีกับฝ่าเท้า หรือผิวหนังของกระต่ายตามมา ควรปูพื้นกรงด้วยหญ้าแห้ง หรือแผ่นพลาสติกรองพื้นกรง เพื่อลดโอกาสการเสียดสี ของผ่าเท้ากระต่ายกับพื้นกรง ซึ่งควรปูรองเป็นขอบเขตประมาณครึ่งหนึ่งของพื้นกรง วัสดุที่ใช้ควรหลีกเลี่ยงไม้ เพราะกระต่ายสามารถเคี้ยวหรือกัดได้
- หมั่นทำความสะอาดและตัดเล็บกระต่ายให้สั้นอยู่เสมอ เพื่อให้มีโอกาสก่อปัญหาน้อยลง และลดการสะสมของเชื้อโรคอย่าปล่อยให้กระต่ายมีอึหรือฉี่เปื้อนตัว จนเกิดการกัดหรือระคายเคืองผิวหนัง และหมั่นแปรงขนหรือตัดแต่งขนกระต่ายของท่านอยู่เสมอ เพื่อลดโอกาสการเกิดสังกะตัง หรือก้อนขนพันกัน ทำให้เกิดความเจ็บปวด และเป็นสาเหตุของการเกิดฝีได้
- ทำความสะอาด และ ใส่ยารักษาบาดแผลทันที อย่ารอ
- การจัดการด้านอาหารและโภชนาการที่ถูกต้อง สามารถลดความเสี่ยงของการเกิดฝีรากฟัน หรือฟันงอกยาว และยังช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคในระบบทางเดินอาหารได้อีกด้วย อาหารหลักของกระต่าย คือหญ้า ทั้งแบบสด และตากแห้ง พืชผักต่างๆ กระต่ายสามารถกินได้บ้างแต่ไม่ควรให้เป็นอาหารหลักเพราะมีปริมาณเส้นใยอาหารน้อย อาหารเม็ดนั้นสามารถให้ร่วมได้บ้าง(ในกระต่ายตัวเต็มวัยควรได้รับอาหารเม็ดประมาณ 1ในสี่ ถ้วยตวง ต่อน้ำหนัก 2.27 กิโลกรัม)
การให้หญ้า ทั้งหญ้าสดหรือแห้ง ควรเลือกหญ้าคุณภาพดี เช่น หญ้าอัลฟาฟ่า ซึ่งจะให้คุณค่าทางอาหารสูง เหมาะกับลูกกระต่ายวัยเจริญเติบโต หรือในกระต่ายโตเต็มวัย สามารถให้หญ้าทีโมธี ซึ่งมีปริมาณสายใยอาหารสูง เหมาะกับทางเดินอาหารของกระต่ายโตเต็มวัย ทั้งยังช่วยขัดฟันและลับฟันไม่ให้งอกยาวได้อีกด้วย
น.สพ. ยุทธดนัย นาสิทธิ์
คลินิกสัตว์เลี้ยงพิเศษ, อายุรกรรมทั่วไป
โรงพยาบาลสัตว์รัตนาธิเบศร์
Post a comment