การดูแลลูกสุนัขแรกคลอดจนถึงช่วงหย่านม
เมื่อมีสมาชิกใหม่ของบ้านลืมตาดูโลก เป็นสิ่งจำเป็นที่เราควรทราบว่าเราจะมีวิธีการดูแลเจ้าสุนัขตัวน้อยนี้อย่างไรบ้าง และมีข้อควรระวังอะไรบ้าง โดยเฉพาะในกรณีที่แม่สุนัขไม่ยอมเลี้ยงลูก หรือไม่มีน้ำนม รวมทั้งกรณีที่นำลูกสุนัขก่อนหย่านมมาเลี้ยงใหม่ด้วยค่ะ
1. การให้นมสำเร็จรูป ชดเชยนมจากแม่สุนัข สามารถหาซื้อได้ที่โรงพยาบาลสัตว์ โดยส่วนใหญ่จะมี 2 แบบ คือ นมผงสำหรับลูกสุนัข แบ่งเป็นสองเกรด คือ เกรดพรีเมี่ยม และเกรดธรรมดา จุดที่แตกต่างกันคือ นมเกรดพรีเมี่ยมมักจะมีปริมาณโปรตีนในนมสูงกว่าเกรดธรรมดา แต่ราคาของนมเกรดพรีเมี่ยมจะแพงกว่าเกรดธรรมดา ข้อเสียของนมแบบผง คือ เสียเวลาในการเตรียม เพราะต้องต้มน้ำ มาชงนมก่อน ส่วนนมอีกชนิดคือ นมสำหรับลูกสุนัขแบบน้ำ และนมแพะในรูปแบบกระป๋อง สะดวกต่อการนำมาใช้ ข้อเสียคือ เมื่อเปิดแล้วควรเก็บในตู้เย็น และไม่ควรเก็บไว้นานเกิน 3-4 วัน
2. วิธีการให้นม แนะนำให้ใช้ขวดนมที่ออกแบบมาสำหรับลูกสุนัขโดยตรง หรืออาจใช้หลอดฉีดยาขนาดเล็กก็ได้ แต่ต้องระวังไม่ดันปริมาณนมเร็วเกินไป เพราะจะทำให้ลูกสุนัขสำลักนมลงปอด ทำให้เสียชีวิตได้ ควรป้อนนม 4-5 ครั้งต่อวัน ในลูกสุนัขแรกเกิดควรป้อนทุก 2 ชั่วโมง โดยสังเกตว่าลูกสุนัขท้องกลมนอนหลับสนิทแสดงว่าได้รับนมเพียงพอ แต่ถ้าส่งเสียงร้อง ดิ้นไปมาแสดงว่ายังไม่อิ่ม เมื่อลูกสุนัขอายุได้ 1-1½ เดือน อาจเริ่มให้อาหารเปียกสำหรับลูกสุนัขหรืออาหารเม็ดเอามาแช่น้ำให้นิ่มเริ่มให้กินได้
3. การกระตุ้นการขับถ่าย หลังจากป้อนนมให้ลูกสุนัขแล้ว เจ้าของควรใช้สำลีสะอาดชุบน้ำอุ่นแล้วบีบหมาดๆ มาเช็ดถูบริเวณหน้าท้อง รอบก้นและรอบอวัยวะเพศ เนื่องจากในธรรมชาติ แม่สุนัขจะคอยเลียตัวลูก เพื่อทำความสะอาดและกระตุ้นให้เกิดการขับถ่าย ถ้าเราไม่ทำให้ ลูกสุนัขอาจจะเกิดภาวะท้องอืด ทำให้ปวดท้อง และอาจเสียชีวิตได้ จนเมื่ออายุได้15-21 วัน ลูกสุนัขจึงจะสามารถคลานไปขับถ่ายได้เองโดยไม่ต้องกระตุ้น
4. การควบคุมอุณหภูมิ เนื่องจากระบบควบคุมความร้อนและอุณหภูมิร่างกายของลูกสุนัขยังไม่พัฒนา ทำให้ร่างกายสูญเสียความอบอุ่นได้ง่าย ดังนั้นเราต้องให้ลูกสุนัขอยู่ในที่อบอุ่น ไม่เปียกชื้น ไม่มีลมโกรก หรืออาจให้อยู่ในกล่องที่ส่องไฟ ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิสิ่งแวดล้อม โดยสังเกตถ้าลูกสุนัขนอนกระจัดกระจายทั่วกล่อง หนีห่างจากดวงไฟแสดงว่าร้อนเกินไป แต่ถ้าลูกสุนัขมาเบียดสุมกันมาก แสดงว่าเย็นเกินไป ไม่แนะนำให้อาบน้ำลูกสุนัขในช่วงอายุไม่เกิน 1½ เดือน ถ้าตัวสกปรกอาจแค่เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นและใช้ผ้าขนหนูเช็ดตัวให้แห้งพอ ลูกสุนัขสูญเสียความร้อนในร่างกายได้ง่าย หากอุณหภูมิร่างกายต่ำมากเกินไป อาจทำให้เสียชีวิตได้
5. การดูแลความสะอาด เป็นสิ่งสำคัญ บริเวณที่เลี้ยงลูกสุนัข ควรสะอาด แห้ง ไม่มีมูลสุนัขสะสม วัสดุที่ปูรองพื้นควรเปลี่ยนหรือทำความสะอาดสม่ำเสมอ หากบริเวณที่เลี้ยงสกปรกจะเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค ทำให้ลูกสุนัขป่วย เช่น ท้องเสีย หรือผิวหนังอักเสบได้
6. การสังเกตการเจริญเติบโต ในช่วง 3 สัปดาห์แรกหลังคลอด ควรชั่งน้ำหนักลูกสุนัขทุกวัน และจดบันทึกไว้ เพราะจะช่วยประเมินการเจริญเติบโตและสุขภาพของลูกสุนัขได้ ถ้าลูกสุนัขได้รับน้ำนมเพียงพอจะมีน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากน้ำหนักตัวไม่เพิ่ม หรือลดลง แสดงว่าลูกสุนัขอาจมีปัญหาสุขภาพที่มีผลทำให้อัตราการเจริญผิดปกติได้
7. การวางแผนดูแลสุขภาพให้ลูกสุนัข หลังจากประคบประหงมลูกสุนัขตัวน้อยได้สักระยะหนึ่ง สิ่งที่เจ้าของต้องให้ความสำคัญ คือการพาลูกสุนัขไปตรวจสุขภาพ ถ่ายพยาธิ และฉีดวัคซีนป้องกันโรคเมื่อลูกสุนัขมีอายุตามระยะเวลาที่สัตวแพทย์กำหนด เพื่อสร้างภูมิต้านทานให้แก่ลูกสุนัข และป้องกันไม่ให้เกิดโรคร้ายแรง
Post a comment