รูปที่ 1 แสดงภาพน้องบราวนี่ สุนัขที่ป่วยด้วยภาวะน้ำในถุงหุ้มหัวใจ
ภาวะน้ำในถุงหุ้มหัวใจ (pericardial effusion) คือการสะสมของเหลว เช่น น้ำหรือเลือดในถุงหุ้มหัวใจ เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น การมีเนื้องอกหรือมะเร็งในถุงหุ้มหัวใจ, ลิ้นหัวใจรั่วเรื้อรัง, หรือเกิดเองโดยไม่ทราบสาเหตุ (idiopathic) เป็นต้น เมื่อมีน้ำไปสะสมที่ถุงหุ้มหัวใจ จะเป็นตัวกดการทำงานของหัวใจทำให้หัวใจขยายตัวรับเลือดได้ไม่เต็มที่ ซึ่งจะทำให้สุนัขเสียชีวิตเฉียบพลันจากภาวะหัวใจล้มเหลวได้
อาการที่พบ สุนัขมักแสดงอาการอ่อนแรง เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก ไม่ทนต่อการออกกำลังกาย อาจพบอาการเป็นลมได้ ซึม เบื่ออาหาร ในรายที่เป็นรุนแรงจะพบน้ำสะสมในช่องอก และในช่องท้อง ทำให้พบภาวะท้องโตขยายใหญ่ได้เมื่อหัวใจมีขนาดใหญ่มากจนเกิดการกดเบียดหลอดลมจะพบอาการไอ
เมื่อคุณหมอตรวจร่างกายจะพบว่า สุนัขมีเสียงหัวใจเต้นเบามาก (muffle heart sound) เนื่องจากมีน้ำไปสะสมอยู่ในถุงหุ้มหัวใจ หัวใจเต้นเร็ว ซึม เหงือกมีสีซีด หายใจลำบาก อ่อนแรง ชีพจรบริเวณขาหลังเบา ท้องโตขยาย เมื่อกดพบว่านิ่มและกระเพื่อมเนื่องจากมีน้ำอยู่ภายใน
การวินิจฉัยทำได้โดยการเอกซเรย์ช่องอก (x-ray) (จากภาพ) พบว่าน้องบราวนี่มีขนาดเงาหัวใจที่โตมากกว่าปกติ เนื่องจากมีน้ำในถุงหุ้มหัวใจ ซึ่งตรวจยืนยันได้จากภาพอัลตราซาวด์หัวใจ (echocardiography) และตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติโดยใช้เครื่อง electrocardiography
รูปที่ 2 แสดงภาพเอกซเรย์ของน้องบราวนี่ พบว่าเงาของหัวใจมีขนาดกลมโตมากกว่าปกติ
รูปที่ 3 แสดงภาพอัลตราซาวด์หัวใจ พบว่ามีน้ำในถุงหุ้มหัวใจปริมาณมาก
รูปที่ 4 แสดงภาพการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
การรักษาทำได้โดยการเจาะระบายน้ำในถุงหุ้มหัวใจ (pericardiocentesis) และนำน้ำที่เจาะได้ไปตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ในรายที่รุนแรงจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดถุงหุ้มหัวใจออกบางส่วน (subtotal pericardiectomy)
ผู้เรียบเรียง สพ.ญ. นัยนา สุขสันติลาภ (หมอพลอย)
Post a comment