ตามธรรมชาติแล้วสุนัขเป็นสัตว์ที่ขี้สงสัย อยากรู้อยากเห็น ชอบที่จะดมกลิ่น หรือเลียกินสิ่งต่างๆ ดังนั้นจึงอาจทำให้เกิดปัญหาการกินสิ่งแปลกปลอมเข้าไปอุดตันในทางเดินอาหารได้ เช่น กระดาษ เศษเสื้อผ้า เส้นด้าย หนังยาง กระดูก หิน เศษไม้ ไม้เสียบลูกชิ้น เมล็ดผลไม้ เป็นต้น ปัญหาจะไม่เกิดขึ้นหากสิ่งแปลกปลอมที่สุนัขกินเข้าไปมีขนาดเล็ก และสามารถผ่านทางเดินอาหารของสุนัขจนกระทั่งถูกขับออกมาทางอุจจาะได้ แต่หากสิ่งแปลกปลอมไม่สามารถผ่านออกมาได้ ทำให้เกิดการอุดตันภายในทางเดินอาหาร เจ้าของควรรีบพามาพบสัตวแพทย์โดยเร็วเพราะการอุดตันในบางตำแหน่งอาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อนำสิ่งแปลกปลอมออกจากทางเดินอาหาร
เราจะรู้ได้อย่างไรว่าสุนัขกลืนกินสิ่งแปลกปลอมเข้าไป?
หากเจ้าของไม่ได้เห็นว่าสุนัขกินสิ่งแปลกปลอมเข้าไปโดยตรง อาการที่สามารถสังเกตได้หลังกิน เช่น
- อาเจียน
- ท้องเสีย
- ปวดเกร็งท้อง เจ็บท้อง
- กินอาหารน้อยลง หรือไม่กินอาหารเลย
- อุจจาระน้อยลง หรือสีของอุจจาระเปลี่ยนไป เช่น อาจมีเลือดปน
- ซึม อ่อนเพลีย
- พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป เช่น ดุ หรือจะหันมมากัดเจ้าของเมื่อเข้าไปอุ้มหรือจับบริเวณท้อง เนื่องจากสุนัขเจ็บท้อง หรือรู้สึกไม่สบายท้อง
- สิ่งแปลกปลอมบางชนิดมีพิษเมื่อเกิดการดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย เช่น โลหะ ตะกั่ว สังกะสี
- หากสิ่งแปลกปลอมมีลักษณะแหลมคมจนทำให้เกิดการทะลุของทางเดินอาหาร จะทำให้เกิดช่องท้องอักเสบ ติดเชื้อตามมา และอาจทำให้สัตว์ตายได้
การวินิจฉัย
หลังจากซักประวัติและตรวจร่างกายโดยละเอียดแล้ว หากสงสัยการอุดตันในทางเดินอาหาร สัตวแพทย์จะทำการถ่ายภาพเอ็กซเรย์ช่องท้องเพื่อหาวัตถุแปลกปลอม ในบางครั้งอาจจำเป็นต้องถ่ายภาพเอ็กซเรย์ร่วมกับให้สัตว์กลืนสารทึบรังสีเพื่อหาตำแหน่งที่เกิดการอุดตัน รวมทั้งการเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการเพื่อประเมินสภาพร่างกายของสัตว์ และตัดปัญหาจากโรคอื่นๆ
การรักษา
สิ่งแปลกปลอมที่อุดตันลำไส้แล้วไม่สามารถผ่านออกมาได้จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขโดยการผ่าตัด ซึ่งต้องพิจารณาสภาพร่างกายของสุนัขร่วมด้วย หากมีอาการอาเจียนและท้องเสียรุนแรง การให้สารน้ำเข้าทางเส้นเลือดเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อปรับสภาพร่างกายของสุนัขก่อนเข้ารับการผ่าตัด ร่วมกับการฉีดยาต่างๆตามดุลยพินิจของสัตวแพทย์ผู้ทำการรักษา
การพยากรณ์โรค
ส่วนใหญ่แล้วการรักษาโดยการผ่าตัดเอาสิ่งแปลกปลอมที่อุดตันในทางเดินอาหารออกมักจะประสบความสำเร็จในการรักษาดี แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่สิ่งแปลกปลอมอุดตัน ระยะเวลาที่อุดตันก่อนที่จะพาสุนัขมาพบสัตวแพทย์ ขนาด รูปร่าง ลักษณะของสิ่งแปลกปลอมที่อุดตัน สุขภาพ และความแข็งแรงของร่างกายสัตว์ ดังนั้น เจ้าของสัตว์เลี้ยงควรเก็บสิ่งของต่างๆที่สุนัขอาจกลืนกินได้ให้มิดชิด เลือกของเล่นที่ปลอดภัย และหากพบว่าสุนัขของท่านกลืนกินสิ่งแปลกปลอมควรรีบพาไปพบสัตวแพทย์โดยเร็ว สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่โรงพยาบาลสัตว์รัตนาธิเบศร์ทุกสาขา หรือโทร 02-1968244-6
ผู้เรียบเรียง สพ.ญ. นัยนา สุขสันติลาภ (หมอพลอย)
โรงพยาบาลสัตว์รัตนาธิเบศร์
Post a comment