โรคผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อราพบได้บ่อยในแมว โดยเฉพาะแมวพันธุ์เปอร์เซีย ส่วนใหญ่มักมีการติดเชื้อตั้งแต่ยังอายุน้อย เจ้าของมักพาน้องแมวมาพบสัตวแพทย์ด้วยอาการของโรคผิวหนัง เช่น ขนร่วงเป็นวง อักเสบแดง ผิวหนังแห้งเป็นสะเก็ด บางตัวมีอาการคันร่วมด้วย ซึ่งเจ้าของจะสังเกตได้จากแมวชอบถูตัว หรือเลียตัวบ่อยขึ้น ความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับการกระจายตัวของรอยโรค หากเจ้าของปล่อยทิ้งไว้ไม่พาน้องแมวมาทำการรักษา อาจทำให้โรคมีการกระจายตัวที่ผิวหนังทั่วร่างกาย ซึ่งจะทำให้ใช้เวลาในการรักษานานมากขึ้น
ภาพแสดงแมวที่เป็นโรคผิวหนังจากการติดเชื้อรา
โรคนี้เป็นโรคที่สามารถติดมาสู่คนได้ (zoonosis) หากคนที่มีร่างกายอ่อนแอ หรือสภาวะผิวหนังอ่อนแอ โดยเฉพาะเจ้าของแมวที่มีการคลุกคลีกับน้องแมวตลอด ก็สามารถได้รับเชื้อได้ อาการของคนที่เป็นเชื้อราก็จะมีอาการทางผิวหนังที่คล้ายในแมว เช่น มีอาการคัน ผิวหนังนูนเป็นวงขอบแดง และสามารถกระจายหรือขยายขนาดใหญ่ขึ้นได้เช่นกัน หากไม่ทำการรักษา
เราไม่สามารถวินิจฉัยโรคเชื้อราได้จากการดูด้วยตาเปล่า หากสงสัยการติดเชื้อรา สัตวแพทย์จะทำการตรวจโดยใช้การส่องไฟตรวจเชื้อรา (Wood’s lamp) หรือการเก็บตัวอย่างขนเพื่อเพาะเชื้อราในอาหารเลี้ยงเชื้อเพื่อยืนยันการติดเชื้อ
ภาพการเรืองแสงสีเขียวของเส้นขนแมวที่ติดเชื้อราเมื่อตรวจด้วยการส่องไฟตรวจเชื้อรา
การรักษาสามารถทำได้หลายวิธี ซึ่งสัตวแพทย์จะเลือกวิธีที่เหมาะสมกับสัตว์แต่ละตัวและความรุนแรงของโรค เช่น ยาทาฆ่าเชื้อราเฉพาะที่ แชมพูฆ่าเชื้อ และยากินฆ่าเชื้อรา เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันนี้ยังมีการใช้วัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อราชนิด Microsporum canis ได้อีกด้วย ซึ่งเจ้าของสามารถสอบถามโปรแกรมวัคซีนป้องกันเชื้อราได้จากสัตวแพทย์
Post a comment