โรคนิ่ว คือการสะสมของตะกอนแร่ธาตุจนเกิดเป็นก้อนนิ่วในทางเดินปัสสาวะ นิ่วสามารถเกิดได้ตลอดทางเดินปัสสาวะ ตั้งแต่บริเวณไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ และท่อปัสสาวะ แต่ 85% ของโรคนิ่วในสัตว์เลี้ยงมักพบได้ในกระเพาะปัสสาวะ นิ่วในทางเดินปัสสาวะมีหลายชนิด ส่วนสาเหตุนั้นไม่ทราบแน่ชัด อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุร่วมกัน ได้แก่ ปัจจัยจาก อายุ เพศ พันธุ์ของสัตว์เลี้ยง ชนิดของอาหารและน้ำ ความเป็นกรด ด่างของปัสสาวะ การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ สิ่งแวดล้อม หรือโรคอื่นๆ
อาการ
อาการที่พบ ได้แก่ ปัสสาวะบ่อยแต่มีปริมาณน้อย ปัสสาวะกะปริดกะปรอย มีอาการปวดเบ่ง หรือร้องเจ็บเวลาปัสสาวะ เลียอวัยวะเพศบ่อยครั้ง อาจพบปัสสาวะมีเลือดปน หากมีนิ่วอุดตันที่ท่อปัสสาวะจะทำให้ปัสสาวะไม่ออก ถือว่าเป็นภาวะฉุกเฉิน จำเป็นต้องพาสุนัขไปพบสัตวแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาโดยเร็ว มิเช่นนั้นอาจทำให้สัตว์เลี้ยงเสียชีวิตได้ อาการอื่นๆที่ไม่เฉพาะเจาะจง เช่น ซึม เบื่ออาหาร อาเจียน เป็นต้น หากรุนแรงอาจส่งผลต่อไต ทำให้เกิดภาวะไตวายตามมาได้ ในบางรายสัตว์เลี้ยงที่เป็นโรคนิ่วในระยะเริ่มแรก อาจไม่แสดงอาการชัดเจนให้เห็น ส่วนใหญ่มักมาพบสัตวแพทย์เมื่อมีการเกิดของนิ่วปริมาณมากแล้ว
การตรวจวินิจฉัย
อาการของโรคนิ่วจะมีความใกล้เคียงกับโรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ดังนั้น การพิจารณาจากอาการของสัตว์เลี้ยงเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถแยกโรคออกจากกันได้ นิ่วในกระเพาะปัสสาวะที่มีขนาดใหญ่อาจสามารถคลำได้ผ่านทางผิวหนังภายนอกบริเวณช่องท้อง แต่นิ่วที่มีขนาดเล็กมากก็ไม่สามารถคลำได้อย่างแม่นยำเช่นกัน การถ่ายภาพรังสีวินิจฉัย (X-ray) จะช่วยยืนยันโรคนิ่วได้ ในบางครั้งอาจจำเป็นต้องใช้การฉีดสารทึบรังสี หรือการอัดอากาศเข้ากระเพาะปัสสาวะร่วมด้วย การอัลตราซาวน์ (ultrasound) บริเวณกระเพาะปัสสาวะช่วยยืนยันโรคนิ่ว และดูการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะร่วมด้วย การตรวจอื่นๆ เช่น การตรวจปัสสาวะ การตรวจเลือด การเก็บตัวอย่างปัสสาวะส่งเพาะเชื้อเพื่อหาความไวต่อเชื้อทำให้เลือกใช้ยาปฏิชีวนะได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งการส่งก้อนนิ่วตรวจวิเคราะห์หาชนิดของนิ่ว เพื่อเลือกชนิดของอาหารป้องกันการกลับมาเป็นโรคนิ่วซ้ำ
ภาพเอกซเรย์แสดงนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
การรักษา
แนวทางการรักษามีอยู่ 2 แบบ ได้แก่ การรักษาโดยการผ่าตัด และการให้อาหารสลายนิ่ว
1.การผ่าตัด เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพโดยการผ่าตัดกระเพาะปัสสาวะและเอานิ่วที่อยู่ภายในออกโดยตรง หลังจากการผ่าตัดสัตว์เลี้ยงอาจมีปัสสาวะปนเลือดต่อเนื่องประมาณ 2-4 วัน หลังจากนั้นจะค่อยๆมีอาการดีขึ้นเป็นลำดับ แต่ในสัตว์เลี้ยงบางตัวที่มีปัญหาสุขภาพ หรือมีความเสี่ยงในการวางยาสลบอาจให้อาหารสลายนิ่วแทนการรักษาโดยการผ่าตัด แต่อย่างไรก็ตามในกรณีที่เกิดการอุดตันของนิ่วในท่อทางเดินปัสสาวะ ถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องได้รับการผ่าตัดโดยเร็วที่สุด
2.การให้อาหารสลายนิ่ว ได้ผลในการรักษาเฉพาะกับนิ่วบางชนิดเท่านั้น เหมาะกับสัตว์เลี้ยงบางตัวที่มีปัญหาสุขภาพ หรือมีความเสี่ยงในการวางยาสลบ แต่อย่างไรก็ตาม วิธีนี้มีข้อจำกัด ได้แก่ ไม่สามารถใช้รักษาโรคนิ่วได้ทุกชนิด ดังนั้น ควรมีการวิเคราะห์ชนิดของนิ่วก่อนการใช้อาหารสลายโรคนิ่ว การใช้อาหารสลายโรคนิ่วใช้เวลาในการรักษานาน อาจใช้เวลาหลายเดือน บางรายอาจมีอาการปัสสาวะปนเลือด ปวดเบ่ง หรือติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะได้ในระหว่างนี้ได้ และข้อจำกัดที่สำคัญที่สุด คือ สุนัขบางตัวอาจมีปัญหาในการกินอาหารสลายนิ่ว ไม่กินอาหารต่อเนื่องสม่ำเสมอ หรือเจ้าของมีการให้อาหารอื่นร่วมด้วย ซึ่งทำให้การรักษาโดยการให้อาหารสลายนิ่วนั้นไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร
ภาพแสดงนิ่วที่มีลักษณะเป็นเม็ดรูปร่างกลมขนาดเล็กจำนวนมาก
ภาพแสดงนิ่วที่มีลักษณะเป็นเม็ดรูปร่างกลมขนาดใหญ่
หากเจ้าของสัตว์เลี้ยงท่านใดสงสัยว่าสัตว์เลี้ยงของตนเองอาจป่วยเป็นโรคนิ่ว หรือต้องการทราบข้อมูลของโรคเพิ่มเติม หรือนัดหมายล่วงหน้า สามารถสอบถามได้ที่โรงพยาบาลสัตว์รัตนาธิเบศร์ทุกสาขา หรือโทร 02-1968244-6
ผู้เรียบเรียง สพ.ญ. นัยนา สุขสันติลาภ (หมอพลอย)
โรงพยาบาลสัตว์รัตนาธิเบศร์
Post a comment