พยาธิหนอนหัวใจ หรือ “HEARTWORM” เป็นพยาธิที่อยู่ในกระแสเลือด และทราบหรือไม่ค่ะว่ามัจจุราชหรือพาหะของโรคนี้นั้นอยู่ใกล้ตัวเราเหลือเกิน ไม่ใช่อะไรอื่นไกลหรอก ก็เจ้ายุงร้ายที่คุณเพิ่งปัดหรือเพิ่งตบไปเมื่อสักครู่นี้นั่นแหละค่ะ พยาธิชนิดนี้สามารถติดต่อกันได้โดยผ่านยุงที่ไปกัดสุนัขที่มีตัวอ่อนของพยาธิชนิดนี้ในกระแสเลือด หลังจากนั้นพยาธิตัวอ่อนนี้จะใช้เวลาประมาณ 5-6 เดือนเจริญเป็นตัวเต็มวัย และไปนอนตัวอ้วนกลมอยู่ในหัวใจห้องล่างด้านขวาและเส้นเลือดใหญ่ที่จะส่งเลือดไปฟอกที่ปอดค่ะ จากนั้นพยาธิตัวเต็มวัยก็จะสืบพันธุ์และออกลูกหลานมามากมายอยู่ในกระแสเลือดของสุนัข ดังแผนภาพด้านล่าง
แผนภาพแสดงวงจรชีวิตพยาธิหนอนหัวใจ
ความรุนแรงของโรคนั้นขึ้นอยู่กับจำนวนของพยาธิหนอนหัวใจที่อาศัยอยู่ภายในหัวใจและเส้นเลือดดำใหญ่ของสุนัขค่ะ โดยอาการของสุนัขที่ป่วยเป็นโรคพยาธิหนอนหัวใจอาจพบตั้งแต่ในระยะไม่แสดงอาการจนถึงขั้นระยะหัวใจล้มเหลว สำหรับอาการที่เจ้าของสุนัขสามารถพบเห็นได้โดยทั่วไป เช่น การไอแห้งๆ, เหนื่อยง่าย, เป็นลม และท้องกางขยายใหญ่ เนื่องจากมีน้ำสะสมอยู่ในช่องท้อง (ท้องมาน)ค่ะ
การวินิจฉัย
การตรวจวินิจฉัยโรคที่นิยม ได้แก่ การใช้ชุดตรวจแอนติเจนต่อพยาธิหนอนหัวใจในกระแสเลือดค่ะ หรือการเจาะเลือดมาตรวจหาพยาธิตัวอ่อนในกระแสเลือด
ชุดตรวจแอนติเจนต่อพยาธิหนอนหัวใจ
การรักษา
สำหรับการรักษาโรคพยาธิหนอนหัวใจนั้นสามารถทำได้ทั้งการรักษาทางยาและ/หรือรวมกับวิธีทางศัลยกรรมค่ะ การรักษาทางยาสามารถทำได้โดยการฉีดยาฆ่าพยาธิตัวแก่ที่อาศัยอยู่ในหัวใจและหลอดเลือดของสุนัข วิธีนี้เป็นวิธีที่ใช้กันบ่อยครั้งและสามารถทำได้ง่าย อย่างไรก็ตาม การประเมินสภาพสุนัขก่อนการเข้ารับการรักษารวมกับการดูแลภายหลังการรักษาถือว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากตัวยาอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงอื่นๆได้ แต่ในรายที่เป็นโรคพยาธิหนอนหัวใจรุนแรงอาจทำการรักษาทางศัลยกรรมโดยการผ่าตัดนำตัวพยาธิหนอนหัวใจออกจากเส้นเลือดดำใหญ่ แต่อย่างไรก็ตามจากสภาวะสุขภาพของสุนัขป่วยในระยะรุนแรงรวมกับการผ่าตัดที่ต้องการความชำนาญ จึงมักไม่พบเห็นการรักษาโรคพยาธิหนอนหัวใจด้วยวิธีนี้บ่อยครั้งนัก และสุดท้ายเป็นการรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว ตามอาการค่ะ ในกรณีที่สุนัขไม่พร้อมในการรับการรักษาทั้ง 2 วิธี เช่นการให้ยาลดความดัน ยาขับน้ำ เป็นต้น
ดังนั้นเมื่อเราทราบถึงความร้ายกาจของพยาธิชนิดนี้แล้ว ร่วมกับการที่น้องหมาของเราถูกยุงกัดเป็นประจำ เราจึงควรที่จะป้องกันให้น้องหมาของเราปลอดภัย จากพยาธิชนิดนี้กันดีกว่าค่ะ ซึ่งการป้องกันสามารถทำได้หลายวิธี ทั้งนี้เนื่องจากมีผลิตภัณฑ์หลายชนิดให้เราเลือกใช้ให้เหมาะสมกับความต้องการและความสะดวกของผู้เลี้ยงค่ะ อาทิเช่น
- ยาฉีด : เราควรพาสุนัขมาฉีดยาที่โรงพยาบาลสัตว์หรือคลินิกใกล้บ้านเป็นประจำ ซึ่งมีทั้งแบบรายเดือนและรายปี
- ยากิน : ให้กินเป็นประจำทุกเดือน
- ยาหยอดหลัง : หยดหลังเป็นประจำทุกเดือน
ผู้เรียบเรียง สพ.ญ. นัยนา สุขสันติลาภ (หมอพลอย)
โรงพยาบาลสัตว์รัตนาธิเบศร์
Post a comment