สวัสดีค่ะเพื่อนๆคนรักสัตว์ทุกๆท่าน คงไม่มีใครต้องการให้สัตว์เลี้ยงแสนรักของเราต้องเลือดตกยางออกถึงขนาดต้องเข็นเตียงเข้าห้องผ่าตัดจริงไหมคะ แต่จะทำอย่างไรได้ ความเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นสัจธรรมของสัตว์โลก หากเมื่อสัตว์เลี้ยงของเราจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดแก้ไขความผิดปกติ สิ่งที่เจ้าของควรปฏิบัติต่อสัตว์เลี้ยงของท่านก่อนเข้ารับการผ่าตัดมีดังต่อไปนี้
1. ก่อนทำการผ่าตัดควรทำการงดน้ำและอาหารอย่างน้อย 8-12 ชั่วโมงเนื่องจากในขณะที่ร่างกายอยู่ในสภาวะสลบนั้นกล้ามเนื้อหูรูดต่างๆจะคลายตัว อาจมีผลทำให้สัตว์เลี้ยงสำลักอาหารหรือน้ำจากกระเพาะอาหารเข้าสู่หลอดลม เกิดการสำลักและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ค่ะ แต่การจำกัดน้ำนั้นมีข้อจำกัดในลูกสัตว์ที่อายุไม่เกิน 3 เดือน คือไม่ควรงดน้ำนานเกินกว่า 3 ชั่วโมงค่ะ เนื่องจากลูกสัตว์มีกลไกในการปรับสมดุลย์น้ำในร่างกายที่ยังไม่สมบูรณ์ การงดน้ำนานเกินไปอาจส่งผลให้ลูกสัตว์เกิดภาวะขาดน้ำได้ค่ะ
2. ทำความสะอาดพื้นที่ผิวก่อนการผ่าตัดเท่าที่ทำได้ กรณีเป็นการผ่าตัดที่มีเวลาให้เตรียมตัวสัตว์ได้และสัตว์มีสุขภาพดี เช่น ผ่าตัดทำหมัน เจ้าของอาจอาบน้ำให้แก่สัตว์เลี้ยงล่วงหน้า 1 วัน เพื่อให้สัตว์เลี้ยงสะอาดที่สุดในการผ่าตัด แต่ถ้าหากสัตว์เลี้ยงมีสุขภาพที่ไม่เอื้ออำนวย เช่น สุนัขเป็นมดลูกอักเสบเป็นหนอง แมวถูกรถชนกระดูกขาหัก ก็ไม่จำเป็นต้องอาบน้ำก็ได้ค่ะ อาจทำความสะอาดเช็ดคราบต่างๆคร่าวๆก็พอค่ะ เพราะทางสัตวแพทย์จะทำการโกนขนและฟอกล้างด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อบนผิวหนังสัตว์เลี้ยงก่อนการผ่าตัดอยู่แล้ว การเตรียมพื้นผิวก่อนการผ่าตัดให้สะอาดนั้นก็เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากผิวหนังเข้าสู่แผลผ่าตัดค่ะ
3. สอบถามสัตวแพทย์ถึงการดูแลหลังการผ่าตัด รวมถึงปัญหาแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด เนื่องจากการผ่าตัดอาจยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมด จำเป็นต้องได้รับการรักษาทางยาและการดูแลจากเจ้าของอย่างใกล้ชิด อย่าลืมว่าความสำเร็จของการรักษามาจากหมอครึ่งหนึ่งและจากเจ้าของอีกครึ่งหนึ่งนะคะ
4. ประเมินค่าใช้จ่ายของการผ่าตัดเนื่องจากการผ่าตัดบางประเภทนั้นมีค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ที่ค่อนข้างสูง เช่น การผ่าตัดในช่องอก การผ่าตัดแก้ไขกระดูกหักบางชนิด การผ่าตัดทางระบบประสาท การผ่าตัดเพื่อตัดต่อลำไส้ ซึ่งสัตว์เลี้ยงจำเป็รที่จะต้องรักษาต่อที่โรงพยาบาลสัตว์ตามที่สัตวแพทย์แนะนำ ดังนั้นก่อนการตัดสินใจผ่าตัดเจ้าของมีสิทธิ์ที่จะให้สัตวแพทย์ประเมินค่าใช้จ่ายคร่าวๆเพื่อเราจะได้เตรียมค่าใช้จ่ายให้พอดีกับการรักษาค่ะ
5. เตรียมใจยอมรับความเสี่ยงของการวางยาสลบ เนื่องจากภาวะสลบร่างกายจะมีอัตราการเต้นของหัวใจและชีพจร รวมถึงการหายใจก็จะช้ากว่าปกติ ซึ่งเป็นผลจากฤทธิ์ของยาสลบ เพียงแต่ว่าปัญหาที่ทำให้สัตว์เข้ารับการผ่าตัดนั้นจะเป็นสิ่งที่เพิ่มความเสี่ยงในการวางยา ตัวอย่างเช่น สุนัขที่มาทำหมัน ย่อมมีความเสี่ยงในการวางยาสลบน้อยกว่าสุนัขที่มาผ่าคลอดและสุนัขที่มาผ่าตัดช่องอกทะลุตามลำดับ นอกจากนี้อายุของสุนัขก็มีผลต่อการวางยาสลบเช่นกัน ตัวอย่างเช่น สุนัขโตเต็มวัยย่อมมีความเสี่ยงในการวางยาสลบน้อยกว่าสุนัขที่มีอายุน้อยและสุนัขแก่ตามลำดับ
6. ประการสุดท้ายเพื่อความสะดวกและไม่เป็นการเสียเวลาทั้งเจ้าของสัตว์เลี้ยงและโรงพยาบาลสัตว์ ควรพาสัตว์เลี้ยงมาให้ตรงตามวันและเวลาที่ได้นัดหมายการผ่าตัดไว้ หรือหากเจ้าของสัตว์มีเหตุจำเป็นที่ไม่สามารถพาสัตว์เลี้ยงมาเข้ารับการผ่าตัดที่นัดหมายไว้ได้ ควรติดต่อโรงพยาบาลสัตว์ล่วงหน้าก่อนเวลาผ่าตัด 1 วัน เพื่อทำการนัดหมายในช่วงเวลาอื่นทดแทน และเป็นการเปิดโอกาสให้ทางสัตวแพทย์ได้ดำเนินการรักษาหรือผ่าตัดสัตว์ปาวยตัวอื่นต่อไปค่ะ
Post a comment