นำเรื่องความผิดปกติของเลนส์ตาที่มีการเคลื่อนตัวจากตำแหน่งปกติมาฝากค่ะ
สุนัขพันธุ์ ชิสุห์ อายุ 9 ปี เพศผู้ ประวัติเดิมเป็นต้อกระจกทั้งสองข้าง เจ้าของ แจ้งว่า อาการพบว่าตาข้างซ้ายขุ่นมากขึ้นกว่าเดิม จากการตรวจร่างกาย พบว่า
ตาข้างซ้าย : ต้อกระจก ม่านตาขยาย พบการเคลื่อนตัวของเลนส์ตามาด้านหน้า ความดันตาต่ำกว่าปกติ ช่องหน้าตาอักเสบ เยื่อตาขาวอักเสบ กระจกตาบวมน้ำ ไม่พบแผลที่กระจกตา ทดสอบปฏิกิริยาไม่ตอบสนองต่อแสง ม่านตาขยาย มองไม่เห็น
ตาข้างขวา : ต้อกระจก เยื่อตาขาวอักเสบ ความดันตาปกติ ไม่พบแผลที่กระจกตา ทดสอบปฏิกิริยาตอบสนองต่อแสง ม่านตาสามารถหดได้เมื่อแสงส่อง เมื่อทดสอบการมองเห็นเดินชน พบว่ามีการเดินชน
การเคลื่อนตัวของเลนส์ (lens luxate) การเคลื่อนตัวของเลนส์เกิดขึ้นได้จากเส้นยึดของเลนส์ขาด ซึ่งการเคลื่อนตัวอาจเกิดแบบชั่วคราวหรือถาวรก็ได้เกิดขึ้นได้ 3 ชนิด
1. เคลื่อนตัวไปด้านหน้า(Anterior lens luxate) คือการเคลื่อนตัวของเลนส์ เข้าไปอยู่ในช่องหน้าม่านตา ทำให้ช่องหน้าม่านตาแคบลง เป็นเหตุให้เกิดต้อหินตามมา เสนส์จะเคลื่อนไปอยู่ชิดกับผนังด้านในกระจกตา เกิดการบวมน้ำที่กระจกตา และกระจกตาขุ่น
2. เคลื่อนตัวไปด้านหลัง (Posterior lens luxate) คือการเคลื่อนตัวของเลนส์เข้าไปอยู่ในเนื้อวุ้นตา
3. เคลื่อนชั่วคราว (sub luxate) เส้นยึดเลนส์ตาขาดข้างหนึ่ง ทำให้ข้างที่ขาดเคลื่อนไปข้างเดียว
สาเหตุ ของการเกิดการเคลื่อนตัวของเลนส์ เกิดได้หลายสาเหตุ เช่น เกิดขึ้นเอง พันธุกรรม ได้รับบาดเจ็บ ต้อกระจก ต้อหิน มีเนื้องอก
การรักษา กรณีที่เลนส์ตาเคลื่อนไปด้านหน้า ควรรีบแก้ไขก่อนการเกิดต้อหิน หากเลนส์ตาเคลื่อนไปด้านหลัง มักจะไม่ทำการผ่าตัดเนื่องจากทำได้ยากและมักพบโรคแทรกซ้อน แต่ถ้าเกิดการอักเสบรุนแรง อาจจำเป็นต้องทำการผ่าตัดการรักษา
หมายเหตุ : ในกรณีรายนี้ ช่วงแรกมีการเคลื่อนตัวของเลนส์ไปด้านหน้า ซึ่งในระหว่างรอการผ่าตัด เลนส์ได้เคลื่อนตัวไปอยู่ด้านหลังในเนื้อวุ้นตา จึงเลื่อนการผ่าตัดออกไปก่อน ให้ยาหยอดตาเพื่อลดการอักเสบและติดตามอาการเป็นระยะ
ที่มา : ปราณี ตันติวานิช และคณะ (2545). โรคนัยน์ตาสัตว์. พิมพ์ครั้งที่3. ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะสัตวแพทย์ จุฬาลงกรณ์มาหาวิทยาลัย. 265-267.
ภาพ : David J. Maggs at. al (2013).Slatter’s fundamentals of veterinary ophthalmology . fifth edition. Elisevier. 288-289.
ผู้เรียบเรียง : สพ.ญ.จุฑารัตน์ บารมี
Post a comment