ช่วงนี้ฝนตกหนัก อย่าลืมดูแลสุนัขและแมวของเราให้ดีกันนะคะ… ฝนตกแบบนี้อากาศมักชื้นแฉะ และเป็นปัจจัยที่จะทำให้สัตว์เลี้ยงป่วยได้ง่ายกว่าปกติค่ะ วันนี้เรามารู้จักโรคหลักๆที่พบบ่อยในหน้าฝน รวมถึงภัยร้ายที่มักแอบแฝงมาโดยที่เราไม่ทันคาดคิด เพื่อเป็นแนวทางในการดูแลสุขภาพและความปลอดภัยที่ดีให้เจ้าสี่ขาของเรากันค่ะ
- โรคในระบบทางเดินหายใจ
โรคระบบทางเดินหายใจหรือที่เรารู้จักกันว่าเป็นหวัดนั่นเองค่ะ อากาศชื้นๆแบบนี้ ยิ่งถ้าบางตัวชอบไปเล่นน้ำอีก จะเป็นหวัดได้ง่ายนะคะ อาการเบื้องต้นที่สังเกตได้ง่ายจะเริ่มจาก ซึม ไม่กินอาหาร มีน้ำมูก หายใจลำบาก เหนื่อยง่าย หากพบอาการดังกล่าวควรรีบปรึกษาและพาน้องๆไปพบคุณหมอทันทีค่ะ ยังไงก็ตามการป้องกันเบื้องต้นที่เราสามารถทำได้คือการลดการสัมผัสกับน้ำ เช่น ปิดประตูห้องน้ำเพื่อไม่ให้นอนแช่น้ำ เป็นต้น รวมถึงการหาเสื้อให้ใส่เพื่อเพิ่มความอบอุ่นในกรณีที่นอนในห้องแอร์ และหมั่นเช็ดตัวน้องๆให้แห้งนะคะ
- โรคผิวหนัง
โรคนี้มาพร้อมกับความอับชื้นค่ะ เป็นปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมเหนี่ยวนำให้เกิดผิวหนังอักเสบและติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้ง่ายนะคะ นอกจากนี้ความชื้นยังเป็นปัจจัยหลักในการก่อให้เกิดการติดเชื้อราที่ผิวหนังได้ค่ะ อาการที่พบบ่อย คือ พบตุ่มหนองใต้ท้อง ขนร่วง คัน เป็นผื่นแดง เป็นต้น ซึ่งมักพบในบริเวณที่เป็นจุดอับชื้น เช่น ง่ามเท้า ขาหนีบ รักแร้ หรือ ตามง่ามหน้าของสุนัขพันธุ์ที่มีรอยพับของผิวหนังมาก การมีอาการดังกล่าวบ่งชี้ถึงการมีความผิดปกติที่ผิวหนังเกิดขึ้น โดยเริ่มแรกเจ้าของอาจเริ่มจากการใช้แชมพูฆ่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราอาบน้ำให้น้องๆก่อน ร่วมกับการหมั่นเช็ดทำความสะอาดตามบริเวณจุดอับชื้นตามตัว รวมถึงป้องกันการเกา เลีย แทะ บริเวณที่คัน อาจใช้การใส่ปลอกคอกันเลีย หรือสวมเสื้อให้นะคะ แต่หากไม่ดีขึ้นแนะนำให้เข้ารับคำปรึกษาจากคุณหมอนะคะ เนื่องจากโรคผิวหนังบางอย่างอาจไม่ได้มาจากการติดเชื้อเพียงอย่างเดียว การเกิดภาวะภูมิแพ้อาหาร หรือภาวะภูมิแพ้ต่อสิ่งแวดล้อม ก็สามารถเกิดร่วมกันได้ค่ะ ดังนั้นการคุมการติดเชื้ออย่างเดียวอาจไม่ได้ผลนะคะ
- เห็บ-หมัด
เจ้าปรสิตพวกนี้โดยปกติก็มีบทบาทก่อกวนในชีวิตประจำวันมากอยู่แล้ว โดยเฉพาะในประเทศไทยของเราที่มีลักษณะภูมิอากาศร้อนชื้น ยิ่งฝนตกอากาศเหมาะๆ เห็บยิ่งแพร่พันธุ์เพิ่มจำนวนได้อย่างรวดเร็ว และควบคุมได้ยากอีกด้วยนะคะ ยังไงก็ตามควรพาน้องๆ มาที่คลินิกเพื่อป้องกันและกำจัดเห็บหมัดเป็นประจำทุกเดือนค่ะ นอกจากนี้การใส่ปลอกคอป้องกันเห็บก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งค่ะ อีกทั้งเราควรควบคุมเห็บในสิ่งแวดล้อมที่สุนัขอยู่อาศัยควบคู่ไปด้วย โดยการใช้น้ำยาฆ่าเห็บผสมน้ำถูพื้น หรือใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตามผนังบ้านก็ได้นะคะ
- สัตว์มีพิษ
เมื่อฝนตกหนักจึงอาจพบการท่วมขังของน้ำได้มากขึ้นค่ะ การท่วมขังของน้ำนี้อาจส่งผลกระทบต่อที่อยู่อาศัยของสัตว์มีพิษต่างๆ เช่น คางคก งู ตะขาบ แมงป่อง เป็นต้น ทำให้ต้องออกมาจากแหล่งที่อยู่อาศัยของตัวเอง เพื่อมาหาที่อยู่อาศัยใหม่ ซึ่งสัตว์เหล่านี้มักเป็นที่สนใจแก่น้องสุนัขและแมวของเรา เนื่องด้วยมีการเคลื่อนไหวที่แปลกตา น้องสุนัขและแมว ที่ชอบความกระดุกกระดิกของพวกมัน รวมถึงความอยากรู้อยากลองเปิดประสบการณ์ใหม่ไม่สิ้นสุดของเจ้าสี่ขาเหล่านี้ อาจนำมาซึ่งภัยอันตรายอย่างไม่ทันได้คาดคิดได้นะคะ วิธีสังเกตอาการเบื้องต้นหากสุนัขและแมวโดนกัดคือ อาจพบการบวมแดงบริเวณตำแหน่งที่โดนกัด พบเลือดออกจากบาดแผล พบเหงือกซีด หรืออาจถึงขั้นหมดสติอย่างเฉียบพลันโดยที่เราไม่ทราบสาเหตุ และอาจนำไปสู่อันตรายถึงชีวิตได้หากพบสัตวแพทย์ไม่ทันค่ะ
อย่างไรก็ตามโรคและภัยร้ายที่กล่าวมา สามารถป้องกันได้ด้วยการสอดส่องดูแลอย่างใกล้ชิดของเราอย่างสม่ำเสมอ และการเข้ารับการตรวจเช็คสุขภาพกับสัตวแพทย์เป็นประจำนะคะ เพราะความผิดปกติบางอย่างเจ้าของอาจไม่ทันได้สังเกตเห็นนะคะ
ผู้เรียบเรียง สพ.ญ.นพวรรณ ศรีเจริญ
โรงพยาบาลสัตว์รัตนาธิเบศร์
Post a comment