“แมวป็นเอดส์ได้ด้วยหรอคะคุณหมอ?” “โรคเอดส์แมวเหมือนโรคเอดส์ในคนไหมคะ? แล้วจะติดคนไหมคะ?” “เป็นแล้วรักษาหายไหมคะ?”
หลากหลายคำถามสำหรับคนรักแมว และทาสแมวทุกคนที่สงสัยในเรื่องของโรคเอดส์แมว ซึ่งเป็นโรคไวรัสติดต่อร้ายแรงในแมว ทำให้น้องแมวของคุณเสียชีวิตได้เลยทีเดียวค่ะ วันนี้เรามีคำตอบค่ะ
โรคไวรัสเอดส์แมว หรือ Feline immunodeficiency virus มีชื่อเรียกสั้นๆคุ้นหูว่า FIV สำหรับคนที่เลี้ยงสุนัข หรือคนที่เพิ่งเริ่มเลี้ยงแมวอาจจะยังไม่คุ้นเคยกับโรคนี้เท่าใดนัก แต่สำหรับคนรักแมวแล้ว โรคนี้คงจะเป็นโรคที่รู้จักกันดีเพราะเป็นโรคที่น้องแมวสามารถติดต่อกันได้ง่าย และมีอันตรายที่น่ากลัว หากบ้านไหนที่เลี้ยงแมวหลายตัวรวมกันแล้วพบว่ามีตัวใดตัวหนึ่งตรวจว่าเป็นโรคเอดส์แมวแล้ว ตัวที่เหลือก็มีโอกาสที่จะติดโรคได้เช่นเดียวกัน
การติดต่อ
โรคนี้สามารถติดต่อได้ผ่านทางแม่แมวสู่ลูกแมว โดยผ่านรกและน้ำนม ดังนั้นจึงไม่แปลกใจเลยว่าบางบ้านที่เลี้ยงแมวในบ้านตลอดเวลา ไม่เคยปล่อยออกนอกบ้าน แต่ก็อาจมีโอกาสเป็นโรคเอดส์แมวได้หากมีการติดต่อผ่านทางแม่ที่เป็นโรคตั้งแต่แรกเกิด นอกจากนี้ยังพบว่าโรคนี้มักพบในแมวเพศผู้มากกว่าเพศเมีย เนื่องจากการติดต่อผ่านทางน้ำลาย จากบาดแผลกัดกัน การต่อสู้ซึ่งพบในแมวเพศผู้ที่เลี้ยงปล่อยมีโอกาสออกไปเจอแมวอื่นนอกบ้าน
อาการ
อาการของโรคเอดส์แมวนั้นไม่จำเพาะ ดังนั้นแมวที่สุขภาพดี แข็งแรงของคุณอาจเป็นโรคนี้อยู่ก็ได้แต่อยู่ในระยะที่ไม่แสดงอาการ แมวบางตัวอาจแสดงอาการแค่เป็นไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร มีช่องปากและเหงือกอักเสบ หรือมีอาการของรับบทางเดินหายใจ ต่อมน้ำเหลืองเกิดการขยายใหญ่ ในระยะสุดท้าย แมวอาจแสดงอาการท้องเสียเรื้อรัง ซูบผอม และเสียชีวิตในที่สุด
การวินิจฉัย
การวินิจฉัยโรค สัตวแพทย์จำเป็นต้องซักประวัติ และตรวจร่างกายโดยละเอียด ร่วมกับการเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยมีชุดตรวจสำเร็จรูปสามารถทราบผลได้ทันที แมวที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสงสัยในการติดโรคเอดส์แมวและควรตรวจด้วยชุดตรวจโรค เช่น แมวป่วยด้วยอาการที่ต้องสงสัย แมวเก็บมาเลี้ยง ไม่ทราบประวัติการติดโรค แมวที่มีบาดแผลจากการกัดกัน แมวที่เลี้ยงปล่อยนอกบ้าน และ แมวที่เลี้ยงรวมกับแมวที่มีการติดเชื้อเอดส์แมว เป็นต้น
การรักษา
ในแมวที่มีการติดเชื้อตามธรรมชาติมักไม่พบอาการที่รุนแรง หากได้รับการดูแลที่ดีแมวที่ติดเชื้อสามารถมีคุณาพชีวิตที่ดีได้หลายปีจนหมดอายุขัย การรักษาจะเป็นการรักษาเพื่อพยุงอาการ ร่วมกับการจัดการ ให้อาหารที่มีคุณภาพดี และอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สบาย แนะนำให้ทำหมันเพื่อป้องกันความเครียดในช่วงเป็นสัด
ผู้เรียบเรียง สพ.ญ. นัยนา สุขสันติลาภ (หมอพลอย)
โรงพยาบาลสัตว์รัตนาธิเบศร์
Post a comment