มีหลายครั้งที่เจ้าของสังเกตเห็นก้อนผิดปกติที่ผิวหนังของสัตว์เลี้ยง ไม่ว่าจะสังเกตเห็นตั้งแต่ก้อนมีขนาดเล็กๆ หรือสังเกตเห็นเมื่อก้อนมีขนาดใหญ่มากแล้วโดยเฉพาะในสุนัขพันธุ์ขนยาว หากไม่ได้ลูบคลำตัวสุนัขบ่อยๆทุกวัน เจ้าของบางท่านก็อาจไม่ทราบได้ว่าสัตว์เลี้ยงของตนมีก้อนผิดปกติเกิดขึ้นที่ผิวหนัง แต่คำถามที่หมอพบบ่อยคงหนีไม่พ้น “ก้อนนี้เป็นมะเร็งไหมคะ?” “แล้วจะอันตรายหรือเปล่า ต้องรักษายังไง?” วันนี้เรามีคำตอบค่ะ
มะเร็งเป็นโรคที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ในสุนัขทุกตัว โดยเฉพาะสุนัขที่มีอายุมาก โดยในปัจจุบันพบว่าสัตว์เลี้ยงเป็นโรคมะเร็งมากขึ้น อาจเนื่องจากเจ้าของสัตว์เลี้ยงมีการการเลี้ยงดูสัตว์เลี้ยงที่ดีขึ้น ให้ความสำคัญกับสัตว์เลี้ยงเปรียบเหมือนสมาชิกในครอบครัว ทำให้สุนัขมีอายุที่ยืนยาวมากขึ้น เช่นเดียวกับในคน หากมีการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งตั้งแต่ในระยะแรกก่อนที่มะเร็งจะเกิดการกระจายไปยังอวัยวะต่างๆในร่างกาย จะทำให้การรักษาประสบความสำเร็จมากกว่า แต่ไม่ใช่ว่าก้อนผิดปกติที่เกิดขึ้นทุกครั้งจะเป็นมะเร็งเสมอไป เพราะอาจเป็นก้อนฝี หรือก้อนเนื้อธรรมดาก็ได้ อาการที่เจ้าของสังเกตได้ง่ายที่สุดคือ การสังเกตพบก้อนผิดปกติที่ผิวหนังภายนอกร่างกาย โดยก้อนดังกล่าวมีการโตขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือมีการกระจายไปยังตำแหน่งอื่นๆ เป็นแผลเรื้อรังที่รักษาไม่หาย มีเลือด หรือสิ่งคัดหลั่งออกมาอยู่ตลอด อาการอื่นๆที่ไม่จำเพาะ เช่น มีน้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว เบื่ออาหาร เซื่องซึมลง ไม่ออกกำลังหรือออกกำลังได้ไม่เท่าเดิม หายใจลำบาก ปัสสาวะหรืออุจจาระลำบาก เป็นต้น
มะเร็งที่พบได้ในสุนัขเพศผู้ที่เป็นทองแดง (ลูกอัณฑะไม่อยู่ในถุงอัณฑะครบทั้ง 2 ข้าง แต่ยู่ในช่องท้อง) เมื่อสุนัขอายุมากขึ้น ลูกอัณฑะที่อยู่ในช่องท้องอาจมีขนาดโตขึ้นและกลายเป็นมะเร็งได้ ในสุนัขเพศเมียมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งมดลูก เป็นต้น ในสุนัขพันธุ์ใหญ่ เช่น ร๊อตไวเลอร์ โดเบอร์แมน และเยอรมัน เชพเพิร์ด มีโอกาสสูงที่จะเป็นมะเร็งกระดูกซึ่งอาการอาจสับสนกับการเจ็บขาที่เกิดจากข้ออักเสบ หรือกระดูกหักได้ มะเร็งอื่นๆที่สังเกตได้ง่าย เช่น การเกิดเนื้องอกที่ปากให้รีบพามาพบสัตวแพทย์เพราะมีโอกาสสูงที่จะลุกลามไปเป็นมะเร็งได้ และมะเร็งผิวหนัง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีมะเร็งที่เกิดขึ้นในอวัยวะภายในร่างกายซึ่งจะวินิจฉัยได้ยากมากกว่ามะเร็งที่พบได้ที่ผิวหนัง เช่น มะเร็งที่กระเพาะปัสสาวะ มะเร็งที่ตับ ม้าม ไขกระดูก และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น
ภาพที่ 1 สุนัขมีก้อนเนื้อผิดปกติที่ช่องปาก
ภาพที่ 2 สุนัขมีก้อนผิดปกติที่ผิวหนังบริเวณใต้รักแร้
ภาที่ 3 สุนัขมีก้อนผิดปกติขนาดใหญ่มากบริเวณข้างลำตัว
มะเร็งในสุนัขมีหลายชนิด ดังนั้น ก่อนทำการรักษาจำเป็นต้องวินิจฉัยหาชนิดของมะเร็งก่อนเพื่อที่คุณหมอจะได้วางแผนการรักษาได้ในอนาคต การวินิจฉัยโรคมะเร็งทำได้ตั้งแต่การตรวจร่างกายโดยละเอียด การเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อที่ผิดปกติดังกล่าวส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ การตรวจเลือด รวมทั้งการถ่ายภาพรังสีช่องอกเพื่อดูการกระจายของมะเร็งไปที่ปอด วิธีการรักษา การพยากรณ์โรค รวมทั้งโอกาสที่สุนัขจะหายจากโรคมะเร็งหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น สภาพร่างกายของสุนัขเอง ชนิดของมะเร็งที่เป็น ตำแหน่งของมะเร็งว่าเกิดขึ้นที่ตำแหน่งหรืออวัยวะใดของร่างกาย ระยะของมะเร็ง การลุกลามหรือการกระจายของเซลล์มะเร็งไปยังอวัยวะต่างๆภายในร่างกาย
ดังนั้นเจ้าของสัตว์เลี้ยงจึงมีส่วนสำคัญในการรักษาไม่น้อยไปกว่าคุณหมอเลย โดยที่เจ้าของสัตว์เลี้ยงควรทำความเข้าใจให้ชัดเจนถึงความเสี่ยง และกระบวนการรักษาต่างๆ เพราะมะเร็งบางชนิดนอกจากการผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกแล้ว อาจต้องรักษาร่วมกับการใช้เคมีบำบัดร่วมด้วย เจ้าของสัตว์เลี้ยงจำเป็นต้องดูแลสัตว์เลี้ยงใกล้ชิด และพาสุนัขมาเข้ารับการรักษาตรงตามที่นัดหมาย เมื่อทราบความน่ากลัวของโรคมะเร็งแล้ว เจ้าของสัตว์เลี้ยงควรหมั่นตรวจคลำสัตว์เลี้ยงของท่านอยู่สม่ำเสมอเพื่อจะได้ตรวจพบความผิดปกติได้แต่เนิ่นๆ หรือพาสัตว์เลี้ยงไปตรวจสุขภาพโดยสัตวแพทย์เป็นประจำทุกปีนะคะ สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่โรงพยาบาลสัตว์รัตนาธิเบศร์ทุกสาขา หรือโทร 02-1968244-6
Post a comment