กระต่ายเป็นสัตว์ที่เชื่อง ไร้เดียงสา และน่ารัก แม้จะเป็นสิ่งมีชีวิตตัวเล็กๆ แต่หากตัดสินใจรับกระต่ายมาเลี้ยงแล้วควรใส่ใจดูแลเพื่อให้กระต่ายมีสุขภาพดี และมีชีวิตที่ยืนยาว การศึกษาข้อมูลและเตรียมตัวตั้งแต่ขั้นตอนการเลือกกระต่ายเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้เลี้ยงควรให้ความสนใจ วันนี้เรามีเทคนิคการเลือกกระต่ายก่อนรับมาเลี้ยงดูมาฝากกันค่ะ
1. ควรศึกษาข้อมูลของพันธุ์กระต่ายที่สนใจเลี้ยงก่อน รวมทั้งลักษณะนิสัยและการดูแลของพันธุ์นั้นๆ
2. ลักษณะกระต่ายที่มีสุขภาพดี ควรมีท่าทางที่สดใส ร่าเริง กินอาหารเก่ง สนใจสิ่งแวดล้อม เมื่อได้ยินเสียงมีการหยุดฟังหรือใบหูมีการตอบสนอง ขนตามตัวต้องไม่พันกัน ไม่มีอุจจาระติดก้น หรือติดขน ไม่มีกลิ่นเหม็น ตามตัวไม่มีบาดแผล
3. ดวงตาสดใส ไม่มีขี้ตาเกรอะกรัง ไม่มีสะเก็ดหรือขนร่วงรอบตา ไม่พบคราบน้ำตาหรือน้ำตาไหล
4. จมูก ไม่มีน้ำมูก หรือคราบน้ำมูก อาจสังเกตจากมือทั้ง 2 ข้างถ้ามีคราบของน้ำมูก หรือขนพันกันแข็ง แสดงว่ากระต่ายมีการเช็ดน้ำมูก
5. การหายใจ ไม่อ้าปากหายใจ หรือหายใจมีเสียงดังซึ่งบ่งบอกว่าอาจป่วยด้วยโรคในระบบทางเดินหายใจ
6. ใบหู ทั้งด้านในและด้านนอก ไม่มีขนร่วง หรือเป็นสะเก็ด ไม่มีอาการคัน หากมีอาการดังกล่าวอาจบ่งบอกว่ามีการป่วยด้วยโรคผิวหนัง
7. อุจจาระ ต้องถ่ายอุจจาระเป็นก้อนปกติ
8. ไม่พบน้ำลายไหลเลอะใต้คาง ฟันปกติ สามารถกินอาหารได้ปกติ หากมีความผิดปกติดังกล่าว อาจบ่งบอกว่ามีการป่วยด้วยปัญหาโรคฟัน
9. อายุที่เหมาะสมในการเลี้ยงกระต่าย คือ 2 เดือน ซึ่งเป็นช่วงที่หย่านมแล้ว และเริ่มกินอาหารปกติได้ ถ้าต่ำกว่านั้น ลูกกระต่ายจะมีปัญหาแทรกซ้อนได้ง่าย เช่น ภูมิคุ้มกันต่ำ ติดเชื้อ หรือท้องเสียจากการเปลี่ยนอาหาร
10. การเลือกซื้อกระต่าย ควรเลือกซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ มีการรับประกัน สอบถามข้อมูลอายุ พันธุ์ เพศ ประวัติพ่อแม่พันธุ์ให้ชัดเจน รวมทั้งอาหารที่ให้อยู่ก่อนที่เราจะรับมาเลี้ยง
เมื่อเลือกลูกกระต่ายได้แล้ว ควรพากระต่ายกลับที่พักเลย เพื่อให้พักผ่อน ไม่อ่อนเพลียจากการเดินทางมากเกินไป ช่วงที่รับมาเลี้ยงใหม่ ควรดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ แต่ไม่ควรยุ่งวุ่นวายกับกระต่ายมาก เนื่องจากเมื่อย้ายเข้ามาอยู่ในสถานที่ใหม่อาจมีความเครียดอยู่บ้าง ควรปล่อยให้กระต่ายได้สำรวจพื้นที่และสร้างความคุ้นเคยก่อน หากมีปัญหาสุขภาพและการเลี้ยงดูเกี่ยวกับกระต่ายสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือนัดหมายล่วงหน้า ได้ที่โรงพยาบาลสัตว์รัตนาธิเบศร์ทุกสาขา หรือโทร 02-1968244-6
ผู้เรียบเรียง สพ.ญ. นัยนา สุขสันติลาภ (หมอพลอย)
โรงพยาบาลสัตว์รัตนาธิเบศร์
Post a comment