โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวในแมว (feline hypertrophic cardiomyopathy) เป็นโรคหัวใจที่พบได้บ่อยในแมว พบได้ในแมวอายุกลางๆ เพศผู้พบบ่อยมากกว่าเพศเมีย แมวพันธุ์เปอร์เซีย และเมนคูน เป็นพันธุ์ที่มีแนวโน้มจะเป็นโรคนี้ได้มากกว่าพันธุ์อื่น ลักษณะของโรคจะพบการหนาตัวของผนังหัวใจห้องล่าง และหัวใจห้องบนขยายใหญ่ ส่งผลต่อการคลายตัวในการรับเลือดของหัวใจ ทำให้ปริมาณเลือดออกจากร่างกายไปเลี้ยงหัวใจลดลง
อาการ
แมวมักมาด้วยอาการหายใจลำบากแบบเฉียบพลัน อ้าปากหายใจ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย เป็นลม ขาหลังอ่อนแรงจนไปถึงเป็นอัมพาตหากมีการอุดตันของลิ่มเลือด มีน้ำสะสมในช่องว่างของร่างกาย เช่น มีน้ำในช่องอก และช่องท้อง
การตรวจวินิจฉัย
เมื่อตรวจร่างกายจะพบว่า แมวอาจมีน้ำในช่องอกหรือช่องท้อง มีเสียงหัวใจที่ผิดปกติ การเอกซเรย์ช่องอกจะทำให้เห็นเงาของขนาดของหัวใจที่ผิดปกติไป ร่วมกับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และยืนยันโรคด้วยการตรวจอัลตราซาวด์หัวใจจะพบการขยายขนาดของหัวใจห้องบนซ้าย และพบการหนาตัวของกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้าย
การรักษา
เป็นการให้การรักษาทางยาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของหัวใจ ลดอัตราการเต้นของหัวใจให้ใกล้เคียงปกติ และป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน
ในเคสนี้ น้องไข่ตุ๋น เป็นโรคหัวใจชนิดนี้ มารักษาที่ #โรงพยาบาลสัตว์รัตนาธิเบศร์ สาขา3 ปทุมธานี เจาะระบายน้ำในช่องอกไปแล้ว1ครั้ง ตอนนี้ยังต้องดูแลอย่างใกล้ชิดที่โรงพยาบาลค่ะ
ผู้เรียบเรียง สพ.ญ. นัยนา สุขสันติลาภ (หมอพลอย)
โรงพยาบาลสัตว์รัตนาธิเบศร์
Post a comment