โรคเบาหวาน คือโรคที่มีระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูงกว่าปกติ โดยปกติแล้วร่างกายจะมีฮอร์โมนอินซูลิน ทำหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในกระแสเลือด โดยดึงน้ำตาลในกระแสเลือดมาใช้ในร่างกาย โรคเบาหวานในสุนัขมักเกิดจากความผิดปกติของตับอ่อนที่ทำให้ร่างกายขาดฮอร์โมนอินซูลิน แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าสุนัขของคุณเป็นโรคเบาหวาน ?
มีวิธีสังเกตเบื้องต้นจากอาการ 4 อย่าง ดังนี้
1.มีความอยากอาหารสูงกว่าปกติ
2.น้ำหนักตัวลดลงในขณะที่กินอาหารได้ปกติหรือมากกว่าปกติ
3.ปัสสาวะมากกว่าปกติ
4.ดื่มน้ำมากกว่าปกติ
นอกจากนี้ในสุนัขยังพบว่าเกิดภาวะต้อกระจก (เลนส์ตาขุ่น) ขึ้น ถ้าพามารักษาไม่ทันเวลาอาจทำให้เกิดภาวะตาบอดได้ เมื่อพบอาการดังกล่าวข้างต้นแล้วอย่านิ่งนอนใจ ควรรีบพาสุนัขของท่านมาพบสัตวแพทย์ทันทีเพื่อตรวจหาระดับน้ำตาลในกระแสเลือด (หลังงดอาหาร 12 ชั่วโมง) ซึ่งค่าปกติอยู่ที่ 80-120 mg/dl ตรวจน้ำปัสสาวะ และ ตรวจค่าเลือดอื่นๆ ตามความเหมาะสมเพื่อประกอบการวินิจฉัย รวมถึงวางแผนการจัดการและการดูแลตามความเหมาะสมต่อสุนัขของท่าน
วิธีการดูแลรักษา สุนัขที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน
1. การฉีดฮอร์โมนอินซูลิน โดยสัตวแพทย์จะทำการตรวจหาปริมาณของอินซูลินที่เหมาะสมต่อสุนัขของท่าน ซึ่งในช่วงแรกนั้นอาจใช้เวลา 3 – 7 วัน หรือตามความเหมาะสมของสุนัขแต่ละตัว เมื่อได้ปริมาณอินซูลินที่เหมาะสมแล้วเจ้าของต้องมาเรียนรู้วิธีการให้อินซูลินที่ถูกต้อง
2. การควบคุมอาหาร โดยมีหลักสำคัญ คือ
สุนัขที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานต้องปรับวิธีการให้อาหารให้เป็นเวลาสม่ำเสมอในแต่ละวัน เช่น 2 มื้อ ในเวลา 8.00 น. และ 20.00 น. ของทุกวัน เป็นต้น และชนิดของอาหารที่ให้ควรเป็นชนิดเดียวกันตลอดตั้งแต่เริ่มต้นการรักษา ไม่ควรเปลี่ยนอาหารเองโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากสัตวแพทย์
ในส่วนอาหารสำหรับสัตว์ป่วยโรคเบาหวานนั้น ปัจจุบันมีอาหารสูตรสำเร็จหลายยี่ห้อที่ทำขึ้นมา ช่วยเพิ่มความสะดวกในการควบคุมการให้อาหารให้เหมาะสม แต่สำหรับสุนัขที่ปกติกินอาหารปรุงเองมาตลอด ไม่สามารถกินอาหารสูตรสำเร็จได้แนะนำให้เลือกอาหารที่มีไขมันน้อย คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนสูง และเยื่อใยอาหารสูง
3. หมั่นสังเกตพฤติกรรมการกิน การปัสสาวะ และชั่งน้ำหนัก รวมถึงอาการต่างๆที่ผิดปกติ เพื่อเป็นตัวช่วยให้สังเกตได้ง่ายว่า การดูแลของเราเหมาะสมหรือไม่ เช่น ถ้ามีอาการดังที่กล่าวไปข้างต้นกลับมา แนะนำให้พาสุนัขไปพบสัตวแพทย์เพื่อขอคำแนะนำหรือตรวจเพิ่มเติมตามสมควร
4.ควรพามาตรวจเช็คระดับน้ำตาลในกระแสเลือด และ การตรวจน้ำปัสสาวะ หรือค่าเลือดอื่นๆ อย่างสม่ำเสมอตามที่สัตวแพทย์นัดหมาย
ผู้เรียบเรียง น.สพ. นิก อังศุธรรังสี
โรงพยาบาลสัตว์รัตนาธิเบศร์
Post a comment