สาเหตุเกิดจากการที่อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนกระทั่งปรับตัวระบายความร้อนออกไม่ทัน จะจำแนกโดยอุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส (104 องศาฟาเรนไฮต์) ซึ่งโดยปกติอุณหภูมิของร่างกายสุนัขจะประมาณ 101-102.5 องศาฟาเรนไฮต์ ฮีทสโตรก แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่
- Non-exertional หรือ classical heat stroke เกิดจากการที่ร่างกายได้รับความร้อนจากภายนอกซึ่งพบได้มากในทางสัตวแพทย์
- Exertional heat stroke เกี่ยวข้องกับการออกกำลังกายอย่างหนักหน่วง
ถึงแม้ว่าร่างกายจะมีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการปกป้องเซลล์จากการทำลายจากอุณหภูมิสูงได้ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อถึงจุดที่ร่างกายไม่สามารถตอบสนองเพื่อชดเชยได้ ทำให้เกิดผลเสียหายต่อระบบต่างๆของร่ายกาย ได้แก่ ระบบทางเดินอาหาร การแข็งตัวของเลือด ไต หัวใจ ระบบไหลเวียนโลหิต ปอด ระบบประสาทส่วนกลาง และเมื่ออวัยวะต่างๆล้มเหลว จะทำให้สุนัขเสียชีวิตในที่สุด
สถิติสาเหตุจากการซักประวัติ
- เจ้าของไปซื้อของแล้วทิ้งสุนัขไว้ในรถโดยไม่ติดเครื่องยนต์
- เอาสุนัขขึ้นกระบะด้านท้ายเพื่อทำการขนส่ง
- ขังสัตว์เลี้ยงไว้ในกรงที่โดนแดดตลอดเวลา
- ให้สุนัขออกกำลังกาย หรือมีกิจกรรมกลางแดดเป็นเวลานาน
สามารถพบได้ในทุกสายพันธุ์ โดยเฉพาะหน้าร้อนในประเทศไทย แต่สุนัขกลุ่มเสี่ยง เช่น สุนัขพันธุ์หน้าสั้น สุนัขอ้วน สุนัขที่มีขนยาว หรือขนหนาแน่น และสุนัขที่มีขนสีดำ
อาการ
อาการที่พบ ได้แก่ อ้าปากหายใจ หอบหายใจเร็ว ลิ้นแดงสด น้ำลายหนืดเหนียว อ่อนแรง ม่ายตาขยาย ตามองไม่เห็น อาเจียน (อาจมีเลือดปน) ถ่ายเหลว ช๊อค เป็นลมหมดสติ จากนั้นในบางรายที่ไม่สามารถลดอุณหภูมิลงได้ทันเวลาจะกระตุ้นให้เกิดความเสียหายต่ออวัยวะต่างๆ โดยพบว่า มีเลือดกำเดาไหล ปัสสาวะ อาเจียนหรือถ่ายอุจจาระเป็นเลือด มีจุดเลือดออกตามร่างกาย ไตวายและเสียชีวิตตามมา
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
- เคลื่อนย้ายสุนัขออกจากบริเวณที่ร้อน หรือให้พ้นแสงแดด ให้อยู่ในที่ร่ม อากาศถ่ายเทได้สะดวก ถอดเสื้อ และปลอกคอออก
- ถ้าสุนัขยังมีสติ ให้ตั้งน้ำเย็นให้กิน แต่ไม่ควรบังคับป้อน
- พยายามลดอุณหภูมิร่างกาย โดยการนำผ้าชุบน้ำเช็ดตัวหรือการอาบน้ำโดยเฉพาะส่วนของฝ่าเท้าและศรีษะ ร่วมกับการเปิดพัดลมเพื่อพาความร้อน ไม่ควรใช้น้ำแข็งหรือน้ำที่เย็นเกินไปเพราะจะทำให้เส้นเลือดฝอยภายนอกหดตัว และทำให้อุณหภูมิภายในร่างกายสูงขึ้น เมื่อลดอุณหภูมิร่างกายถึง 103 องศาฟาเรนไฮต์ ให้หยุดลดอุณหภูมิ เพื่อป้องกันอุณหภูมิร่างกายต่ำเกินไป
- รีบพาสุนัขไปยังโรงพยาบาลสัตว์ เพื่อทำการตรวจและรักษาเพิ่มเติม
การป้องกัน
- ไม่ควรทิ้งสุนัขไว้ในรถ ถึงแม้ว่าจะเปิดหน้าต่างรถไว้ หรือจอดรถไว้ในที่ร่มก็ตาม
- สุนัขที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เป็นโรคหัวใจ อ้วน อายุมาก หรือมีปัญหาระบบทางเดินหายใจ ควรให้อยู่ในที่เย็นสบายและอยู่ในร่ม/บ้าน
- ต้องตั้งน้ำให้มีกินเพียงพอตลอดเวลา เพื่อป้องกันภาวะแห้งน้ำ
- สุนัขที่เลี้ยงอยู่นอกตัวบ้านนั้นควรจัดสถานที่เลี้ยงให้มีที่ร่มไว้หลบแดดได้ด้วย และหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีความร้อนสูง เช่น ทราย หรือพื้นคอนกรีต
- ในวันที่อากาศร้อนควรหลีกเลี่ยงการให้สุนัขออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมเป็นเวลานานๆ
ผู้เรียบเรียง สพ.ญ. นัยนา สุขสันติลาภ (หมอพลอย)
โรงพยาบาลสัตว์รัตนาธิเบศร์
Post a comment